

สมุนไพรต้นชุมเห็ดเทศ

ลักษณะทั่วไปของชุมเห็ดเทศ
ชื่อสมุนไพร:: ชุมเห็ดเทศ
ชื่ออื่นๆ / ชื่อท้องถิ่น :: ขี้คาก , ลับมืนหลวง , หมากกะลิงเทศ ,หญ้าเล็บมือหลวง (ภาคเหนือ) , ส้มเห็ด (เชียงราย) ,จุมเห็ด (มหาสารคาม) , ชุมเห็ดใหญ่ (ภาคกลาง) , ตะสีพอ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) , ตุ๊ยเฮียะเต่า , ฮุยจิวบักทง (จีน) , ตุ้ยเย่โต้ว (จีนกลาง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Senna alata (L.) Roxb.
ชื่อสามัญ Acapulo, Candelabra bush, Candle bush, Ringworm bush
วงศ์ FABACEAE (LEGUMINOSAE ) – Caesalpinioideae
ชุมเห็ดเทศจัดเป็นพุ่มไม้ขนาดกลาง สูง 1.5-3 เมตร ลำต้นแข็งมีเนื้อไม้ ลำต้นแตกกิ่งก้านเป็นแนวขนานกับพื้นดิน กิ่งจะแผ่ออกทางด้านข้าง มีขนสั้นนุ่ม เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีน้ำตาล ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ ออกเรียงสลับ ใบย่อย 8-20 คู่ ยาว 5-15 เซนติเมตร ใบย่อยรูปขอบขนาน ยาว 5-15 ซม. แกมรูปรี โคนใบมน ปลายใบมน กลม หรือเว้าเล็กน้อย ไม่มีต่อม ฐานใบมนไม่เท่ากันทั้งสองด้าน ขอบใบเรียบมีสีแดง แกนกลางใบหนา ยาวประมาณ 30-60 ซม. ก้านใบประกอบยาวประมาณ 2 ซม. หูใบรูปติ่งหู สามเหลี่ยม ยาว 6-8 มม. ติดทน ดอกย่อยมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 4 ซม. ก้านดอกย่อยสั้นมาก ใบประดับเป็นแผ่นบางๆ กลีบเลี้ยงสีเขียวปลายแหลมมี 5 กลีบ กลีบดอกสีเหลืองปลายมนมี 5 กลีบ ลายเส้นที่กลีบดอกเห็นได้ชัด เกสรตัวผู้ยาว ไม่เท่ากัน เกสรตัวเมียมี 1 อัน ผลมีลักษณะเป็นฝักรูปแถบ ยาว แบน และเกลี้ยงไม่มีขน ฝักมีขนาดยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตรและกว้างประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร มีสันหรือปีกกว้าง 4 ปีก ปีกกว้างประมาณ 5 มิลลิเมตรตามความยาวของฝัก ฝักมีผนังกั้น ฝักเมื่อแก่จะเป็นสีดำและแตกตามยาว ภายในฝักมีเมล็ดประมาณ 50-60 เมล็ด เมล็ดเป็นรูปสามเหลี่ยมสีดำ มีผิวขรุขระ มีขนาดกว้างประมาณ 5-8 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 7-10 มิลลิเมตร
สรรพคุณรูปแบบและขนาดวิธีใช้
แก้อาการท้องผูก ใช้ใบจำนวน 12-15 ใบย่อย ตากแห้ง แล้วนำไปต้มกับน้ำพอควร ดื่มครั้งเดียวก่อนอาหารตอนเช้ามืด หรือก่อนนอน หรือใช้ผงใบ 3-6 กรัม ชงน้ำเดือด 120 มิลลิลิตร เป็นเวลา 10 นาที ดื่มก่อนนอน อาจทำเป็นยาลูกกลอนก็ได้ หรือใช้ช่อดอกสด 1-3 ช่อดอกลวก จิ้มน้ำพริกหรือใช้ดอก 1 ช่อ กินสดๆ เป็นยาระบาย รวมถึงใช้ใบและก้านขนาดใหญ่ ประมาณ 3-5 ช่อ นำมาต้มกับน้ำประมาณ 2 ขัน (1500 ซี.ซี.) ต้มให้เดือดเหลือน้ำประมาณ 1/2 ขัน ใส่เกลือพอมีรสเค็มเล็กน้อย ดื่มวันละ 1 แก้ว (250 ซี.ซี.)ครั้งต่อไป รับประทานดอกครั้งละประมาณ 1 ช่อ
การใช้ชุมเห็ดเทศรักษากลาก เกลื้อน นำใบสดมาตำให้ละเอียดใช้ทาบริเวณที่เป็นกลากหรือผื่นคัน หรืออาจนำใบชุมเห็ดเทศ 3-4 ใบ มาตำให้ละเอียดเติมน้ำมะนาวนิดหน่อย ทาบริเวณที่เป็นวันละ 2-3 ครั้ง หรือใช้ใบสดขยี้ถูนานๆ และบ่อยๆตรงบริเวณที่เป็น รวมถึงใช้ใบสด 4-5 ใบ ตำรวมกับกระเทียม 4-5 กลีบ แล้วเติมปูนแดงเล็กน้อย ทาบริเวณที่เป็นซึ่งได้ใช้ไม้ไผ่บาง ๆ ฆ่าเชื้อแล้วขูดผิวบริเวณที่นั้นให้มีสีแดง(กรณีกลาก) ทาวันละ 3-4 ครั้ง จนกว่าจะหาย และเมื่อหายแล้วให้ทาไปอีก 1 สัปดาห์ หรือจะใช้ใบสดตำแช่เหล้า เอาส่วนเหล้าทาบริเวณที่เป็นวันละ 2-3 ครั้ง จนกว่าจะหาย พบว่าได้ผลดี
รักษาฝีแผลพุพอง ใช้ใบชุมเห็ดเทศ 1 กำมือ ต้มกับน้ำพอท่วม เคี่ยวให้เหลือ 1 ใน 3 นำมาชะล้างฝีที่แตกแล้ว หรือแผลพุพอง วันละ 2 ครั้ง เช้า เย็น ถ้าบริเวณที่เป็นกว้างมากใช้สมุนไพร 10-12 กำมือ ต้มกับน้ำใช้อาบเช้าเย็น จนกว่าจะหาย
ใช้ใบสดตำพอก เพื่อเร่งให้หัวฝีออกเร็วขึ้น หรือจะใช้ใบผสมกับน้ำปูนใสหรือเกลือหรือน้ำมันตำพอก รักษากลาก แมลงสัตว์กัดต่อย โรคผิวหนัง นอกจากนี้ยังใช้ใบตำพอกหรือคั้นเอาน้ำผสมน้ำปูนใสทาหรือผสมวาสลิน ใช้ทำเป็นยาขี้ผึ้งทาได้อีกด้วยส่วนยาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติที่แนะนำให้ใช้คือ รับประทานครั้งละ 1 – 2 ซอง (ใบชุมเห็ดเทศแห้งซองละ 3 กรัม) (3 – 6 กรัม) ชงในน้ำเดือด 120 มิลลิลิตร นาน 10 นาที วันละ 1 ครั้งก่อนนอน บรรเทาอาการท้องผูก
องค์ประกอบทางเคมี
ชุมเห็ดเทศมีองค์ประกอบทางเคมีที่สำคัญประกอบด้วยสารกลุ่ม Anthraquinone โดยในใบชุมเห็ดเทศ พบ Hydroxy-anthracene derives ไม่น้อยกว่า 1.0% w/w เช่น Aloe-emodin, Chrysophanol , Chrysophanic acid, lsochrysophanol, Physcion glycoside, Terpenoids, Sennoside, Sitosterols, Lectin, Rhein

ภาพ โมเลกุลสารที่เป็นองค์ประกอบทางเคมีที่พบในชุมเห็ดเทศ
รวบรวมเรื่องโดย
ครูนันทนา สำเภา
NaNa-Bio.com
11 มกราคม 2566 |