![]() |
||||||||||||||
|
สัตว์ที่ไม่มีเนื้อเยื่อที่แท้จริง ไฟลัมพอริเฟอรา (Phylum Porifera) มีโครงสร้างร่างกายไม่ซับซ้อน สัตว์ในไฟลัมพอริเฟอรา ได้แก่สัตว์พวกฟองน้ำ ฟองน้ำที่เป็นตัวเต็มวัยแล้วจะเป็นสิ่งมีชีวิตที่เกาะติดอยู่กับที่ ฟองน้ำไม่มีทางเดินอาหาร ลำตัวฟองน้ำมีช่องให้น้ำเข้าขนาดเล็กเป็นรูพรุนโดยรอบ ช่องว่างใหญ่กลางลำตัวเรียกว่า สปันโจซีล (spongocoel) และมีช่องขนาดใหญ่ด้านบนให้น้ำออกจากลำตัวเรียกว่า ออสคิวลัม (osculum) ฟองน้ำไม่มีเนื้อเยื่อที่แท้จริงมีแต่เซลล์ที่เรียงตัวกันหลวมๆ 2 ชั้น ระหว่างทั้ง 2 ชั้นมีสาร semifluid matrix และมีเซลล์ที่เรียกว่า อะมีโบไซต์ (amoebocyte) ซึ่งทำหน้าที่หลายอย่างรวมทั้งสร้างโครงร่างค้ำจุนที่แทรกอยู่ในตัวฟองน้ำที่เรียกว่า สปิคุล (spicule) สปิคุลเป็นสารที่มีองค์ประกอบต่างๆกันไปแล้วแต่ชนิดของฟองน้ำ เราจึงใช้สปิคุลในการจำแนกชนิดของฟองน้ำด้วย
ฟองน้ำมีการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ ทั้งแบบที่มีสองเพศในตัวเดียวกัน (monoecious) และแบบที่มีเพศแยก (dioecious) ฟองน้ำส่วนใหญ่มีทั้งสองเพศอยู่ในตัวเดียวกันแบบที่เรียกว่าเป็นกะเทย (hermaphrodites) และ สืบพันธ์แบบอาศัยเพศ แต่บางครั้งก็ใช้การงอกใหม่ (regeneration) และการแตกหน่อ (Budding) เป็นการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศได้ด้วย ฟองน้ำที่เกาะอยู่กับที่จะเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์อื่นๆ ที่มีขนาดเล็ก หรืออาจเจริญเติบโต โดยอาศัยเกาะอยู่กับสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น โดยเฉพาะในแนวปะการัง จะพบฟองน้ำเจริญเติบโตอยู่ทั่วไป นอกจากนี้ฟองน้ำยังเป็นอาหารของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เช่น หอยฝาเดียว และปลาบางชนิด เป็นต้น ตัวอย่างของสัตว์พวกฟองน้ำนี้ได้แก่ ฟองน้ำประเภทต่างๆ เช่น ฟองน้ำถูตัว ฟองน้ำแก้ว และฟองน้ำหินปูน เป็นต้น
|
|||||||||||||
รวบรวมเรียบเรียงโดย ครูนันทนา สำเภา โรงเรียนปทุมราชวงศา |