![]() |
||||||
|
ไฟลัมคอร์ดาตา (Phylum Chordata) สัตว์ในไฟลัมคอร์ดาตา มีทั้งสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังและสัตว์มีกระดูกสันหลังอยู่ในไฟลัมเดียวกัน ทั้งนี้เนื่องจากในระยะเอ็มบริโอของทั้งสองพวกมีแกนสันหลังหรือโนโทคอร์ด (notochord) เหมือนกัน นอกจากมีโนโทคอร์ดแล้วสัตว์ในไฟลัมนี้ยังมีลักษณะสำคัญร่วมกันอีก 3 อย่าง คือ มีท่อประสาทกลวงที่ด้านหลัง (dorsal hollow nerve cord) มีช่องเหงือก (phalyngeal slits) อยู่บริเวณคอหอย และมีหางที่อยู่ถัดไปจากทวารหนักบริเวณท้ายลำตัว ซึ่งลักษณะเหล่านี้จะเปลี่ยนรูปหรือหายไปในการเกิดวิวัฒนาการของแต่ละชนิด สัตว์ในไฟลัมคอร์ดาตาที่ไม่มีกระดูกสันหลังมี 2 กลุ่มคือ พวกยูโรคอร์เดต (urochordate) เป็นสัตว์ที่มีถุงเจลลาตินหรือถุงหนังที่ตัวเต็มวัยสร้างออกมาหุ้มลำตัว ตัวเต็มวัยไม่มีแกนสันหลัง ไม่มีหาง และส่วนใหญ่จะเกาะอยู่กับที่ ตัวอย่างเช่น เพรียงหัวหอม
สัตว์ในไฟลัมคอร์ดาตาที่ไม่มีกระดูกสันหลังอีกพวกหนึ่งคือ พวกเซฟาโลคอร์เดต (cephalochordate) ได้แก่ แอมฟิออกซัส (amphioxus) ซึ่งเป็นสัตว์ขนาดเล็กอาศัยอยู่ตามหาดทรายตื้นๆชายฝั่งทะเล ตัวเต็มวัยของแอมฟิออกซัสมีแกนสันหลังยาวตลอดลำตัวและมีตลอดชีวิต นอกจากนี้กล้ามเนื้อที่ลำตัวยังเห็นเป็นปล้องๆ ได้ชัดเจน
สัตว์ในไฟลัมคอร์ดาตาที่เหลือส่วนใหญ่มีแกนสันหลังที่เปลี่ยนแปลงเป็นกระดูกสันหลังแล้ว เราจึงเรียกสัตว์พวกนั้นว่าสัตว์มีกระดูกสันหลัง และนักเรียนจะได้เรียนเกี่ยวกับความหลากหลายของสัตว์มีกระดูกสันหลังในบทเรียนตอนต่อไป
|
|||||
รวบรวมเรียบเรียงโดย ครูนันทนา สำเภา โรงเรียนปทุมราชวงศา |